HOME > Outline of the Three Seals Law

ดรรชนีค้นคำกฎหมายตราสามดวง ฉบับปรับปรุงใหม่

ประมวลกฏหมายรัชกาลที่ 1 เป็นกฏหมายที่ใช้ปกครองประเทศสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นซึ่งกฎหมายนี้เดิมเป็นกฎหมายที่ใช้ในกรุงศรีอยุธยาตอนปลายมาก่อน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 กฎหมายดังกล่าวที่ใช้พิจารณาตัดสินคดีต่าง ๆ มีบทบัญญัติและบทลงโทษไม่ตรงกันทำให้เกิดปัญหาต่อการปกครองบ้านเมือง พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 จึงโปรดให้ชำระกฎหมายทั้งหมดให้ถูกต้องตรงกันและเมื่อชำระแล้วโปรดให้ประทับตรา 3 ดวงไว้เป็นสำคัญ ได้แก่ ตราราชสีห์ ตราคชสีห์ และตราบัวแก้ว กฎหมายฉบับนี้จึงนิยมเรียกว่า “กฏหมายตราสามดวง” และใช้ปกครองบ้านเมืองสืบต่อมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้ยกเลิกภายหลังจากที่ทรงปฏิรูปกฏหมายของประเทศให้ทันสมัย กฎหมายตราสามดวงเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญยิ่งต่อการปกครองและเป็นหลักฐานในการศึกษาหลายด้านทั้งประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ภาษาศาสตร์ วรรณกรรม ฯลฯ กฎหมายตราสามดวงจึงถูกนำมาจัดพิมพ์เผยแพร่หลายครั้งตั้งแต่ปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา การจัดพิมพ์ในสมัยนั้นผู้จัดพิมพ์บางท่านได้คัดลอกตามต้นฉบับเดิมก็มี บางท่านก็ได้แก้ไขอักขรวิธีและแก้ไขถ้อยคำสำนวนรวมทั้งได้ตัดทอนบทบัญญัติบางบทที่เลิกใช้ไปด้วย จึงทำให้กฏหมายตราสามดวงที่พิมพ์เผยแพร่ในสมัยนั้นแต่ละฉบับมีข้อความแตกต่างกันออกไปและมีหลายสำนวน
ต่อมาเมื่อการศึกษาของประเทศพัฒนาจนถึงระดับมหาวิทยาลัยแล้ว มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนด้านกฎหมายและได้เปิดสอนรายวิชา “ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย” ในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท โดยมี ดร. เอร์ แลงกาต์ นักกฎหมายชาวฝรั่งเศสเป็นผู้สอน ในเวลานั้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดพิมพ์หนังสือกฎหมายตราสามดวงอีกครั้งหนึ่งเพื่อใช้เป็นตำราหรือคู่มือสอนในวิชากฎหมายดังกล่าว มหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้ ดร.แลงกาต์รับผิดชอบในการจัดพิมพ์ แลงกาต์ได้จัดพิมพ์ตามต้นฉบับหลวงที่รัชกาลที่ 1 โปรดให้ชำระและมีตราประทับทั้ง 3 ดวงทุกประการ และยังได้ทำคำอธิบายคำศัพท์และอักขรวิธีของคำบางคำไว้อย่างละเอียดและชัดเจน กฎหมายตราสามดวงของแลงกาต์มีทั้งหมดจำนวน 3 เล่ม และแลงกาต์ได้ชี้แจงว่าในการพิมพ์ครั้งนี้ว่า ท่านได้จัดเรียงลำดับกฎหมายตราสามดวงใหม่เพื่อให้สะดวกแก่นักศึกษาในการศึกษาค้นคว้า กฎหมายตราสามดวงของแลงกาต์จึงเป็นหนังสือที่มีความน่าเชื่อถือและน่าจะถูกต้องตามต้นฉบับหลวงมากที่สุด แต่กฎหมายฉบับนี้ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก เนื่องจากพิมพ์จำนวนอาจจะน้อย จึงกลายเป็นหนังสือหายากในเวลาต่อมา
ในปี พ.ศ. 2505 องค์การค้าคุรุสภาเห็นความจำเป็นต้องพิมพ์กฎหมายตราสามดวงใหม่ตามความต้องการของตลาด คุรุสภาได้จัดพิมพ์กฎหมายตราสามดวงตามต้นฉบับของแลงกาต์ทุกประการ และได้จัดรูปเล่มใหม่มีขนาดเล็กลงกว่าเดิมและแต่ละชุดมี 5 เล่ม จำนวนที่พิมพ์มากถึง 3,000 เล่ม และต่อมาในปี พ.ศ. 2515 คุรุสภาได้จัดพิมพ์อีกครั้งหนึ่ง จำนวน 1,000 เล่ม ดังนั้นการศึกษากฎหมายตราสามดวงในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมานักศึกษาจะใช้กฎหมายตราสามดวงฉบับของคุรุสภาเป็นหลักมากกว่าฉบับอื่น แต่เป็นที่น่าเสียดายที่คุรุสภาพิมพ์ทั้งสองครั้งมีคำที่พิมพ์ผิดจากฉบับของแลงกาต์หลายแห่งจนไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ
ในปี พ.ศ. 2521 สถานพิพิธฑภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยา (National Museum of Ethnology) นครโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น โดยศาสตราจารย์ โยเนโอะ อิชิอิ (Yoneo Ishii) และคณะ ได้จัดทำดรรชนีค้นคำกฎหมายตราสามดวงด้วยสมองกลเป็นครั้งแรก เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจกฎหมายฉบับนี้ ดรรชนีค้นคำฯ ได้ใช้ต้นฉบับที่คุรุสภาจัดพิมพ์เป็นหลัก ทั้งที่ทราบดีว่ามีข้อบกพร่อง แต่ด้วยเหตุที่ฉบับคุรุสภาเป็นฉบับที่แพร่หลายมากที่สุด ผู้อ่านสามารถนำมาใช้ศึกษาค้นคว้าร่วมกับดรรชนีค้นคำฯ ที่จัดทำขึ้นได้สะดวกกว่าฉบับอื่น ๆ ดรรชนีค้นคำกฎหมายตราสามดวงฉบับแรก KWIC Index of the Three Seals Lawที่สถานพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาจัดทำมีคำศัพท์จำนวนประมาณ 300,000 คำ ชุดละ 70 เล่ม (ไม่ได้พิมพ์เผยแพร่) ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 คณะผู้จัดทำได้แก้ไขและปรับปรุงดรรชนีค้นคำฯอีกครั้งหนึ่งโดยยังคงใช้ฉบับคุรุสภาเป็นหลักเช่นเดิม ดรรชนีค้นคำฯฉบับที่สองนี้มีคำศัพท์หลักประมาณ 28,000 คำ และตัวอย่างประโยคในดรรชนี จำนวน 239,576 ตัวอย่าง ชุดละ 5 เล่ม จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อมรินทร์พริ้นติ้งเมื่อ พ.ศ. 2533 ดรรชนีฉบับนี้ปัจจุบันจำหน่ายหมดแล้ว
ปัจจุบัน กฎหมายตราสามดวงได้รับความสนใจศึกษาค้นคว้าและวิจัยอย่างกว้างขวาง กฎหมายตราสามดวงฉบับแลงกาต์เริ่มกลับมาแพร่หลายและเป็นที่รู้จักมากขึ้น เนื่องมาจากการทำสำเนาจากต้นฉบับเดิมที่แลงกาต์ทำไว้โดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำได้ง่ายและราคาถูก เมื่อกฎหมายตราสามดวงฉบับแลงกาต์แพร่หลายมากขึ้น ศาสตราจารย์ โยเนโอะ อิชิอิ จึงทำโครงการแก้ไขปรับปรุงดรรชนีกฎหมายตราสามดวงอีกครั้งหนึ่งเป็นครั้งที่ 3 เพื่อให้ดรรชนีฉบับแก้ให่ล่าสุดนี้จะมีความถูกต้องและสมบูรณ์กว่าทุกฉบับ เพราะจะจัดทำตามใหม่ต้นฉบับของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือแลงกาต์จัดพิมพ์มาแล้วทุกประการ ยกเว้นการจัดลำดับคำหลักและเลขหน้ายังคงใช้ตามต้นฉบับของคุรุสภาอยู่ และได้แก้ไขข้อบกพร่องและคำผิดทั้งหมด รวมทั้งจะจัดพิมพ์คำภาษาบาลีเพิ่มไว้ในตอนท้ายเล่มด้วย โครงการนี้จะสำเร็จและเผยแพร่กฎหมายตราสามดวงฉบับปรับปรุงใหม่ในรูปของหนังสือ เวปไซด์ (website) และซีดีรอม (CD Rom) โครงการ 2 ปี (2548-2550) หวังว่าดรรชนีค้นคำกฎหมายตราสามดวงฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่จะอำนวยประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าเรื่องกฎหมายตราสามดวงของนักศึกษาและประชาชนทั่วไปยิ่งขึ้น
แม้ว่ากฎหมายตราสามดวงฉบับคุรุสภาจะมีข้อบกพร่อง แต่จากการตรวจทานแก้ไขเพราะปรับปรุงใหม่ พบว่ามีข้อบกพร่องจริง แต่มีคำผิดไม่มากดั่งที่เคยคิดไว้ ประกอบกับดรรชนีชุดที่ใช้ของคุรุสภาเป็นหลักไม่มีจำหน่ายแล้วและพิมพ์เผยแพร่จำนวนจำกัด ดังนั้นเพื่อให้ดรรชนีกฎหมายตราสามดวงได้แพร่หลายและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา คณะผู้จัดทำจึงใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่จัดทำ CD Rom/Website เผยแพร่ฉบับเดิมไปก่อน เมื่อฉบัปรับปรุงใหม่ทำสำเร็จแล้วจะเผยแพร่ต่อไป

    ▲TOP
 

Copyright ©2005 Center for Southeast Asian Studies, Kyoto University All Rights Reserved.